ในชีวิตการทำงาน อย่าพูดว่า ‘โอเค’ ถ้าจริงๆ แล้ว ‘คุณไม่โอเค’

ธุรกิจ

ในชีวิตการทำงาน แน่นอนครับ มันย่อมมีเรื่องทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งที่ได้อย่างใจ และไม่ได้อย่างใจ

แต่เคยสังเกตไหมครับว่า ในเวลาที่เราไม่โอเคในหลายๆ โอกาส…สังคมไทย วัฒนธรรมไทยของเรา และ เผลอๆ หลายๆ วัฒนธรรมขององค์กร ก็มักจะบอกให้เรา เก็บความไม่พอใจนั้นไว้ อย่าได้ปริปาก

ตามที่หลายคำพังเพยหรือสุภาษิตไทยได้สอนเอาไว้ เช่น “น้ำขุ่นอยู่ใน น้ำใสอยู่นอก” หรือ “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

แต่เชื่อไหมครับว่า แนวคิดของการนิ่งเฉย เมื่อเกิดความไม่สบายใจ เมื่อเห็นความไม่แฟร์หรือความไม่ปกติบางอย่าง และเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่สื่อสารนั้น ไม่ได้สร้างข้อดีเสมอไปอย่างที่ใครๆ คิดหรือสอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

เท่าที่ผมสังเกตมาตลอดชีวิตการทำงาน กรณีที่เงียบเมื่อมีความไม่พอใจแล้วได้ผลดี น่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมอุดมคติมากๆ เท่านั้น ที่เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และใครๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถอ่านใจได้ และ sensitive มากพอ แล้วรีบจัดการเรื่องราวกวนใจเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ หรือแก้ไขปัญหา รักษาน้ำใจกันได้ทันเวลา

แต่เชื่อผมเถิดครับ โอกาสดังกล่าวนั้นเกิดได้น้อยกว่า 10% เพราะส่วนมากคนแต่ละคนจะมอง Agenda ของตัวเองเป็นหลัก แล้วลืมมองคนรอบข้าง ลืมมองทีมงาน จนเกิดเป็น Blind spot

แล้วควรทำอย่างไร…เมื่อหลายๆ อย่างมันเริ่มไม่โอเค

เมื่อเกิด ‘ความไม่โอเค’ ขึ้นในหัวใจคุณ ผมแนะนำว่า ลองเอาตะแกรงมาร่อนความรู้สึกนี้ออกสักสองถึงสามชั้นก่อน เพื่อป้องกันความ Bias ที่เราอาจจะเข้าข้างคนเอง และยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จนอะไรๆ ก็ดูไม่ใช่ไปเสียหมด มันคือตะแกรงเหล่านี้ครับ

ตะแกรงที่หนึ่ง “มันเป็นที่งาน หรือ เป็นที่เรา” ที่เราไม่โอเคมันเป็นเพราะเรามุ่งให้เนื้องานสำเร็จจริงๆ หรือมันเป็นแค่ความรู้สึกของเราล้วนๆ ไม่มีผลประโยชน์ขององค์กรหรืองานมาปน

ถ้าเป็นที่เราเสียมากกว่า ตั้งสติดีๆ แล้วเปิดใจ มองไปที่ผลของงาน ความเป็นทีม และลดตัวตนของเราลงครับ ถามตัวเองว่า นอกจากที่มันกระทบใจเราแล้ว มันกระทบอะไรอีกไหม เช่น สิ่งที่เราไม่โอเคตอนนี้มันผิดกฎหมายไหม ผิดกฎบริษัทไหม กระทบผลงานของเราไหม หรือทำให้เกิดสูญเสียทางการเงินไหม

เพราะต้องยอมรับว่า บางอย่างที่มันขัดใจเรา มันอาจจะเกิดจากว่าหัวหน้างาน ทีมงาน เขาตัดสินใจจากตัวงาน และมองภาพรวม แต่มันไม่เป็นไปตามอย่างใจเรา เราเลย “ไม่โอเค”

ตะแกรงที่สอง “เรื่องนี้…มันถึงกับต้องเป็นเรื่องไหม” เรื่องบางเรื่อง มันไม่ต้องเอาเป็นนิยายทุกเรื่องก็ได้ครับ ลองถามดูว่า ไอ้เรื่องที่เรากำลังเอามาเป็นเรื่องนี้ มันคือแค่ก้อนกรวดในรองเท้า หรือมันคือตะปู เศษแก้ว ที่สร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้

ถ้ามันสลัดทิ้งและมองข้ามได้ เผลอๆ อาจจะสบายใจกว่าครับ ถ้ามันร้ายแรงกว่านั้น เดี๋ยวมารอดูคำแนะนำของผมกันต่อไป

ตะแกรงสุดท้าย “มันเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน และกลายเป็นสิ่งที่คนที่นั่นเห็นเป็นเรื่องที่เขามองข้ามไปแล้วหรือเปล่า” ถ้ามันเพิ่งมีเหตุการณ์นี้ ไม่ได้เกิดซ้ำๆ ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่คนมองว่าปกติ ก็น่าจะพอใช้เวลาในการสังเกตการณ์มันต่อไปได้ครับ

แต่ถ้ามันเริ่มเกิดขึ้นบ่อย และทำให้เราเห็น  Pattern หรือ Culture ของการทำงานแล้ว ก็อย่าปล่อยผ่านครับ

มาครับ ถ้าผ่านสามด่านนั้นมาแล้ว และมันยังไม่โอเคอยู่…สวมหมวกพนักงานที่มีความมืออาชีพ แล้วตามผมมาครับ

ธุรกิจ

หนึ่ง – สื่อสารอย่างมีระบบระเบียบกับคนที่เกี่ยวข้อง

จัดสรรเวลานัดหมายอย่างเป็นสัดส่วนและเพียงพอ และเล่าเรื่องราวโดยจัดระเบียบทางความคิดในการเล่า อธิบาย พยายามตัดอารมณ์ออกก่อน หรือเอาอารมณ์มาเกี่ยวให้น้อยที่สุด และเล่าถึงที่มาที่ไปของเรื่องราว และมุ่งประเด็นไปที่ปัญหาที่เกิดในงานที่ส่งผลกระทบต่อเรา ผลงานของเรา ต่อเพื่อนร่วมงาน งานของทีม และส่วนสำคัญอื่นๆ ในงาน

สอง – เมื่อต้องแสดงอารมณ์หรือความรู้สึก จงเลือกแสดงออกแต่พอดี ไม่ใช่ฟูมฟาย และรู้ตัวว่า เมื่อไรต้องหยุด

ไม่มีใครอยากพูดกับคนที่พูดไปร้องไห้ไป หรือคนอารมณ์ท่วมตลอดเวลาหรอกครับ ต่อให้เรื่องมันจะมีเหตุมีผลและน่าเห็นใจแค่ไหน แต่ถ้าอะไรๆ มันดราม่าไปหมด เรื่องราวนั้นมันจะถูกลดทอนความสำคัญลง เพราะมันจะมีความน่าเหนื่อยหน่ายเข้ามาผสม

ในขณะเดียวกัน ก็อย่าเล่าไปกลัวไป กลัวว่าจะกระทบอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวว่าจะเสียนั่นเสียนี่ เกรงใจคนนั้นทีคนนี้ที เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว มันจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างกระจ่างแจ้งครับ

และสาม – จงปิดท้ายด้วยข้อเสนอ ความคิดเห็นและทางออกที่ทุกฝ่ายได้อยู่ใน Win-Win situation

อย่าไปพยายามทำให้หัวหน้าหรือทีมงานต้องเลือก “เลือกมาเลยค่ะ ว่าจะเลือกมัน หรือเลือกหนู” ชีวิตการทำงานไม่ใช่ละครน้ำเน่าครับ เราจึงต้องรู้จักมองภาพที่ใหญ่กว่าตัวเราขึ้นอีกระดับ

การให้ข้อเสนอแนะที่คิดไตร่ตรองมาแล้วว่ามันดีกับเรา ทีมงาน และส่วนรวม ไม่ได้ช่วยแค่ให้เราเป็น Professional แต่มันช่วยให้เราและองค์กรมีทางออกร่วมกันได้ด้วย

สุดท้าย จงพร้อมจะรับฟังมุมมองที่แตกต่าง อย่าลืมครับว่า สิ่งที่เราไม่โอเคมันมาจากมุมมองความคับข้องใจของเราเป็นใหญ่ จงเปิดใจไว้สำหรับมุมมองที่เราอาจจะมองไม่เห็น ไม่รู้ และคิดไม่ถึงก็เป็นได้

มุมที่เราไม่รู้เหล่านี้ จะช่วยทำให้มุมมองของเรากว้างขึ้น และเติบโตขึ้นอีกก็ได้ เผลอๆ ก็อาจจะมีหลายอย่างที่หลายคนที่ไม่โอเคกับเราอยู่เหมือนกัน

ถ้าลองครบทุกกระบวนท่าที่กล่าวมาแล้ว และความไม่โอเคมันยังคงอยู่ต่อ ผมว่าเราอาจจะต้องหันมามองอีกสักรอบว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นที่เราเองที่ไม่เหมาะกับงาน ทีมงาน และวัฒนธรรมองค์กรนั้นหรือเปล่านะครับ

เพราะมันก็คงไม่มีประโยชน์ที่เราจะต้องมานั่งเสียสมอง เสียใจ เสียเวลา กับอะไรที่ไม่ใช่สำหรับกันและกันต่อไปเรื่อยๆ เช่นกัน